ผมว่าคนที่สอน Agile ให้กับผมมากที่สุดพอลองมาคิดดูแล้วก็พบว่าไม่พ้นคุณศรีภรรยาของผมนี่แหละ เธอเป็นคนที่เป็น Agile โดยธรรมชาติอย่างแท้จริง ลองมาดูตัวอย่างกันนะครับ
วันก่อนผมเปิด Facebook แล้วเอารูปเพื่อนสมัยเรียนคนหนึ่งซึ่งเป็นคนจัดว่าหน้าตาดีทีเดียวให้เธอดูแล้วถามว่า “หล่อมั้ย?” คุณภรรยาของผมก็สวนกลับทันควันว่า “เทียบกับใครล่ะ?” ตอนนั้นก็ เอ๊ะ! กวนกันนี่นา แต่พอลองมาคิดย้อน ก็เข้าใจว่ามันช่างเป็น Agile จริงๆ
ในแนวคิดแบบ Agile นั้นเราจะไม่คิดแบบ Absolute คือเท่าไหร่เรียกน้อยเท่าไหร่เรียกมาก เพราะ Agile เข้าใจว่าทุกอย่างนั้นมัน Subjective คือมันต้องดูว่าเทียบกับอะไร อย่าง 1 point ของทีมสองทีมนั้นจะเท่ากัน หรือไม่ก็ได้ ขึ้นกับว่า มันมีบรรทัดฐานอยู่ที่ไหน แต่ละทีมอาจจะใช้เท่ากันหรือไม่เท่ากันก็ได้ แต่ส่วนใหญ่ที่ผมพบนั้น มักจะไม่เท่ากัน แต่ก็อย่างว่า มันเป็นธรรมดา ไม่อย่างนั้นทุกคนก็คงแย่งกันเป็นแฟนคนกลุ่มหนึ่ง และคนอีกกลุ่มก็หาแฟนไม่ได้ แต่พอมันไม่เท่ากัน จะเปรีบเทียบว่าใครหน้าตาดีกว่า มันก็ต้องมีตัวเปรียบเทียบ ซึ่งตัวเปรียบเทียบในการพัฒนาซอฟแวร์แบบดั้งเดิมจะเรียกว่า baseline ปัญหาของ baseline คือ มันไม่บอกว่า เราทำได้ดีหรือไม่ แต่แค่บอกว่า เราทำได้มากหรือน้อยกว่า ที่เรากะประมาณไว้ตัวแต่ต้น ซึ่งไม่แน่ว่าการที่เราทำได้น้อยกว่า baseline เป็นเรื่องที่แย่ อาจจะเป็นตัว baseline เองต่างหากที่แย่ก็ได้
Agile แก้ปัญหานี้โดยการใช้หลักที่ว่า วัดผลบ่อย และทุกครั้งควรจะดีขึ้นจากคราวที่แล้ว (Continuous Improvement) คือทุกๆ ช่วงเวลา (Iteration) ก็มาดูผลกันทีว่า เทียบกับคราวที่แล้วเราทำงานมีผลงานเป็นอย่างไร มากกว่า หรือน้อยกว่า ที่กะประมาณไว้ ความที่เราทำมันบ่อยๆ จึงช่วยให้สามารถปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงการพัฒนาได้ในเวลาอันรวดเร็วผลก็คือถ้าเราพัฒนาทีมได้อย่างสม่ำเสมอแล้ว ก็จะเกิด Flow ขึ้นในกระบวนการนั่นเอง