อ่านชักธงรบวันนี้(จริงๆเป็นของเมื่อวาน) เขาเขียนเรื่องของฝูงห่านป่า อ่านแล้วก็ อ๊ะ! นี่มันอไจล์นี่นา ลองมาฟังกันดู
ฝูงห่านป่านั้นจะมีการอพยพปีละสองครั้งเป็นระยะทางไกล อพยพลงใต้ก่อนฤดูหนาวและขึ้นเหนือในฤดูใบไม้ผลิ เนื่องจากเป็นระยะทางไกลการบินไปเดี่ยวๆนั้นไม่สามารถทำได้ ห่านป่าจึงต้องอพยพกันเป็นฝูง นอกจากนี้เพิ่อให้มีประสิทธิภาพดีพวกมันจึงจัดรูปแบบการบินเป็นรูปตัววี แล้วคอยผลัดกันขึ้นนำต้านลมข้างหน้า การทำอย่างนี้ทำให้บินเร็วขึ้นถึง 12% และบินได้ไกลขึ้นถึง 71% พูดง่ายๆ คือทั้งเร็วขึ้นแล้วก็อึดขึ้นด้วย
หลักการนี้นั้นเหมือนกับแนวคิดแบบอไจล์เป็นอย่างมาก คือในทีมแบบอไจล์นั้นเราจะไม่มีการกำหนดแน่นอนว่าใครเป็นหัวหน้าใครเป็นลูกน้อง แต่ใช้หลักการในการโน้มน้าว แนวคิดหรือเหตุผลของใครดีกว่าก็เอาตามนั้นโดยไม่ต้องมาคอยคิดว่าก็นี่หัวหน้าสั่งเลยต้องทำตามทั้งๆที่ไม่เห็นด้วย ซึ่งการโน้มน้าวนั้นจะไม่ใช้การโหวตเสียงข้างมากเพราะจะทำเกิดเหตุการณ์ประเภท พวกมากลากไป แต่จะใช้วิธีการแบบ Nemawashi คือจะทำอะไรต้องได้มติเอกฉันท์ร่วมกัน การทำอย่างนี้เป็นการช่วยแบ่งเบาภาระซึ่งกันและกัน เพราะโลกนี้ไม่มีใครถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นต์ตลอดเวลาการเอาหน้าที่ตัดสินใจไปให้ใครคนใดคนหนึ่งนั้นเป็นภาระมากเกินไป
นอกจากนี้ในฝูงห่านป่าเวลามันอพยพนั้นพวกมันจะคอยส่งเสียงให้กำลังใจกัน เหมือนกับทีมแบบอไจล์ที่การให้กำลังใจกันก็เป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะเวลา planning ซึ่งต้องมีการ brainstorm หลายครั้งการเสนอความคิดแรกๆ อาจจะดูไม่เข้าท่า แต่เมื่อช่วยกันคิดเสนอความเห็นมันอาจจะออกมาดีก็ได้ ไม่ควรตัดโอกาสด้วยคำพูดเช่น “ไม่ถูก” หรือ “ใช้ไม่ได้” จะเป็นการปิดโอกาสของความคิดดีๆที่จะเกิดตามมา
นี่แหละคือการสร้างผลผลิตแบบ 1+1 > 2 จริงๆ
Reference
http://www.thairath.co.th/column/pol/chuckthong/171573
Pingback: Certified Scrum Master Day 1/3 : Part 2/3 | bomb0069