พี่ โค้ดดิ้งไม่ใช่เครื่องปั๊มนมกระป๋องนะครับ มันจะได้เท่ากันตลอด
นี่เป็นเสียงจากน้องคนหนึ่งในทีม มันทำให้ผมต้องกลับมานั่งคิดหลายตลบเกี่ยวกับทฤษฎีอไจล์ ว่าตกลงมันสม่ำเสมอหรือไม่
ตามหลักการแล้วอไจล์มีแนวความคิดมาจากหลักการเอาช้าชนะเร็วแบบเต่าชนะกระต่ายด้วยความสม่ำเสมอ เพราะฉะนั้นมันต้องสม่ำเสมออย่างแน่นอน แต่ก็อีกนั่นแหละ ที่waterfall ไม่ถูกต้องก็เป็นเพราะแนวความคิดที่ว่าคนเป็น resource และสามารถคาดการได้เหมือนกับเครื่องจักร
ตามธรรมชาติแล้วประสิทธิภาพของคนนั้นจะเป้นรูปตัวเอสกลับข้าง คือช่วงแรกจะเป็นไปได้ช้าและเมื่อถึงจุดหนึ่งจะเป็นไปได้เร็วจนถึงระดับหนึ่งจะไม่สามารถไปต่อได้และกลับมาช้าอีกครั้ง ยกตัวอย่างเช่นถ้าเราอ่านหนังสือช่วงแรกก็จะอ่านไม่ค่อยรู้เรื่องไปได้ช้าๆ พอจับจุดได้ก็จะเร็วแต่พอไปถึงระดับหนึ่งก็จะดูเหมือนว่าไปต่อไม่ไหวแล้วนอนดีกว่า
เคยบอกไว้ว่าอไจล์นั้นคือการปรับเอาเรื่องจรืงในธรรมชาติมาใช้เป็นโปรเซส ถ้าอย่างนั้นมันก็ดูจะขัดกันเต็มๆไม่ใช่หรือ คำตอบคือไม่ใช่ เพราะว่ามันเข้ากันได้อย่างน่าประหลาด ลองมาคิดตามกันดูนะ
เอสเคิร์ฟของคนเรานั้นมันไม่ได้มีอันเดียว มันเริ่มช้าแล้วก็เร็วแล้วก็กลับไปช้าวนเวียนกันไป ถ้าลองคิดตามมันก็เหมือนกับกราฟ sine ที่ตั้งทแยงอยู่ แล้วถเาเราสามารถพัฒนาตัวเองให้ใช้เวลาช่วงเริ่มต้นที่ช้าให้น้อยรวมถึงช่วงที่ช้าเพราะต้องพักในช่วงท้ายให้สั้นด้วยแล้ว มันก็จะทำให้กราฟใกล้เคียงกับกราฟเส้นตรงที่สม่ำเสมอมากขึ้น
จากนั้นถ้าเราเอากราฟนี้หลายอันมาซ้อนทับกันโดยให้เหลื่อมกันเล็กน้อย เราก็จะได้กราฟเส้นตรงที่มีความหนาประมาณหนึ่งนั่นเอง
สรุปก็คือมนุษย์นั้นไม่สม่ำเสมอและไม่มีทางทำให้้เป็นได้ แต่ประสิทธิภาพสูงสุดคือความสม่ำเสมอ ฉะนั้นการจะไปสู่จุดนั้นได้เราจะต้องทำงานร่วมกันเป็นทีมเพื่อชดเชยซึ่งกันและกันเพื่อนำไปสู่เป้าหมายที่วางไว้