วันนี้จอมซนหกล้มฟันโยกแต่เช้า ทำเอาปั่นปั่นทั้งบ้าน ตกบ่ายเลยต้องออกจากซอฟต์แวร์พาร์พาไปหาคุณหมอฟัน นัดได้ตอนบ่ายสาม ไปสายแต่ไม่เกินสี่โมงเลยยังได้เข้าไปตรวจอยู่ พอมาคิดดู ระบบการจัดคิวของคุณหมอนี่ก็เป็นอไจล์เหมือนกันนะ ลองมาดูกัน
หมอฟันหรือทันตแพทย์นั้นเท่าที่ดูจะทำการเป็นกะคือ กะหนึ่งราวสี่ชั่วโมง คือถ้ามาทำตอนเย็นก็อาจจะเป็น ห้าโมงถึงสองทุ่มครึ่งหรือสามทุ่ม หรือถ้าทั้งวันก็อาจจะเป็นแปดโมงครึ่งถึงสี่โมงเย็น การตรวจรักษานั้นจะต้องใช้เวลานานกว่าคุณหมอสาขาอื่นเพราะ เป็นเรื่องของงานฝีมือล้วนๆ จึงมีการแบ่งสล๊อตออกเป็นสล๊อตละหนึ่งชั่วโมง มีเหมือนกันที่แบ่งเป็นครึ่งชั่วโมงด้วย แต่ส่วนใหญ่จะเป็นหนึ่งชั่วโมง เพราะฉะนั้นเวลาเรานัดเลยต้องนัดว่าเป็นกี่โมงเป๊ะๆ เช่น บ่ายสามโมง คือเรามีเวลาของคุณหมอตั้งแต่ สามโมงถึงสี่โมงนั่นเอง คือถ้าเราไปสายสิบห้านาทีเราก็จะมีเวลาให้คุณหมอรักษาเราน้อยลง ถ้าเวลาที่เหลือไม่พอ เช่นเราไป สามโมงสี่สิบคุณหมอจะบอกว่า เวลาไม่พอต้องขอให้กลับไปนัดใหม่ โดยจะไม่มีการทำไปครึ่งหนึ่งแล้ววันหลังค่อยมาต่อ (แน่ล่ะให้ทำอย่างนั้นเราก็ไม่เอาหรอก)
จุดที่จะชี้ตรงนี้คือในแต่ละรอบหรือกะที่คุณหมอออกตรวจจะมีสล๊อตการตรวจจำกัด (Timebox) เราอาจจะคิดได้ว่ามันคือ สปรินต์หรือไอเทอเรชั่น นั่นเอง แล้วคนไข้แต่ละคนนั้นคุณหมอจะมีการประเมิน (estimate) ว่า ต้องใช้เวลากี่สล๊อต ซึ่งส่วนใหญ่ก็คือหนึ่งสล๊อต แต่บางเคสถ้ายากหรือ มีหลายซี่ก็อาจจะประเมินเป็นสองสล๊อต แต่ก็น้อยมากที่จะเป็นสาม สำหรับคุณหมอบางท่่านที่กำหนดสล๊อตละครึ่งชั่วโมง อันนี้จะละเอียดขึ้นหน่อย คืออาจจะประเมินเป็นหนึ่งชั่วโมงครึ่งก็ได้ แต่โดยหลักการแล้วไม่ต่างกัน เมื่อคุณหมอประเมินแล้วก็จะเป็นการนัดหมาย หรือ ก็คือการทำแพลนนิ่งนั่นเอง ในการวางแผนนัดหมายนี้คุณหมอจะมีการทำล่วงหน้า สองเดือนบ้างสามเดือนบ้าง ก็เหมือนกับว่า นั่นคือ รีลิส ของคุณหมอนั่นเอง ถ้า ไกลกว่า นั้นจะไม่รับนัดหรือไม่คอนเฟิร์ม หรือทำไว้คร่าวๆ เท่านั้น
ถ้าเรามองไปรอบๆ เราจะพบว่าอไจล์นั้นเป็นสิ่งที่มีอยู่แล้ว เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ แล้วก็เอามาประยุกต์กับการพัฒนาซอฟต์แวร์ได้เสมอ วันนี้เอาพอหอมปากหอมคอแค่นี้ครับ