จาก กฏของกมล ทั้ง 32 ข้อ ผมมักจะพูดเสมอว่า ถ้าจำได้ข้อเดียวให้จำข้อที่ว่า “ไม่รู้ให้ถาม” พอเริ่มเผยแพร่มากเข้า ผมกลับพบว่า คนส่วนใหญ่กลับคิดว่าส่วนสำคัญของกฏข้อนี้คือ “การถาม” และกลับละเลยหรือมองข้าม เรื่องของความ “ไม่รู้” ไปเสียหมด
ความจริงแล้ว ระหว่างความ “ไม่รู้” กับการ “ถาม” นั้น ความรู้ตัวว่าตัวเองไม่รู้อะไร มีความสำคัญกว่า การรู้จักถามมากมายนัก กล่าวคือ ถ้าเราไม่รู้ว่าตัวเองไม่รู้อะไร เราจะถามคำถามผิด และได้คำตอบที่ไม่ได้ทำให้เรา “รู้” อะไรขึ้นมา ตัวอย่าง
ผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง: อ่อนนุช นี่ใช้อันเดียวกันกับ สุขุมวิท 101 มั้ย?
ผม: ไม่!
ผู้ใหญ่ท่านนั้น: …
ความจริงผู้ใหญ่ท่านนี้ท่านไม่รู้ว่า อ่อนนุช นั้น มาบรรจบกับ สุขุมวิท ที่ซอยใด แต่ท่าน ไม่รู้ ว่า ตัวท่าน ไม่รู้อะไร ก็คือหมายถึงท่านไม่รู้ว่าท่านต้องการรู้อะไร ท่านจึงถามออกมาเช่นนั้น กลายเป็นท่านได้คำตอบของคำถาม แต่ไม่ได้คำตอบให้กับตัวเอง คือ ไม่รู้มากขึ้นกว่าตอนก่อนถาม เท่ากับการถามนั้นไม่สัมฤทธิ์ผล
ไม่รู้ให้ถาม นั้นเป็นกระบวนการเพื่อก้าวขึ้น บันไดสี่ขั้นของการเรียนรู้ ซึ่งการจะก้าวขึ้นขั้นที่ 4 ที่เป็นขั้นที่สูงที่สุดนั้น ย่อมจะต้องก้าวจากขั้น 1 นั้นคือ “ไม่รู้ว่า(ตัวเอง)ไม่รู้” ไปสู่ขั้น 2 นั่นคือ “รู้ว่า(ตัวเอง)ไม่รู้(อะไร)” ก่อน จึงจะไปต่อได้ การค้นหาและยอมรับการ “ไม่รู้” ของตัวเราเองจึงเป็นกระบวนการสำคัญของการเรียนรู้ให้ได้ผล แต่คนเรานั้นทุกคนย่อมมี “อัตตา” อาจสูงบ้างต่ำบ้างตามแต่ละบุคคล อัตตานี้เองคืออุปสรรคที่ทำให้เรายอมรับความไม่รู้ของตัวเองได้ยาก ซึ่งนำไปสู่ความไม่รู้(อวิชชา)โดยแท้จริง
“ยอมรับว่า ‘ไม่รู้’ เดี๋ยวก็คงรู้
คิดแต่ว่า ‘รู้แล้ว’ ไม่มีวันรู้”