เวลาที่เห็นคนในทีมทำงานหนักเกินไป เช่น กลับดึก หรือเครียดกับงานมาก ผมมักจะพูดว่า “จงทำงานอย่างพอเพียง” แล้วไล่ให้กลับบ้าน หลายคนคิดว่าผมเล่นตลกให้ไม่เครียด เลยไม่ค่อยฟังแล้วตั้งหน้าตั้งตาทำงานต่อไป แต่ความจริงแล้ว ผมจริงจังกับเรื่องนี้มากนะ
การทำงานอย่างพอเพียงกับการอู้งานนั้นไม่เหมือนกัน การอู้งานคือสามารถทำได้ดีกว่านี้แต่ไม่ทำ ส่วนการทำงานอย่างพอเพียง คือทำงานในระดับที่ดีที่สุด เท่าที่ทำได้ในขณะนั้น แต่ไม่พยายามทำเกินไปกว่านั้น จะเห็นว่าทั้งสองเรื่องไม่มีเรื่องของเวลาการทำงานมาเกี่ยวข้อง เพราะคนสองอาจสามารถทำงานได้เท่ากัน แต่ใช้เวลาไม่เท่ากัน ซึ่งแน่นอนว่า คนที่ทำได้เท่ากัน แต่ใช้เวลาน้อยกว่า ต้องถือว่าเก่งกว่า
ผมเป็นคนที่ไม่ชอบคนขยัน เหตุผลคือคนขยันคือคนที่ทำมาก แต่ไม่จำเป็นว่าต้องได้งานมากตามไปด้วย ยิ่งถ้าเขาเป็นคนที่ไม่ค่อยสามารถแต่ขยัน เขาก็จะสร้างปัญหาได้มากกว่า คนที่มีสติปัญญาเท่ากันแต่ขี้เกียจ ผมจึงชอบคนมีความสามารถแต่ขี้เกียจมากกว่า
คำว่าขี้เกียจนี้ ไม่ได้หมายความว่าชอบอู้งาน ซึ่งบอกไปแล้วว่าคือการที่ทำให้ดีได้แต่ไม่ทำ คนขี้เกียจของผมคือคนที่ ไม่ชอบทำงานเดิม ๆซ้ำซาก ถ้าเคยทำแล้ว ครั้งที่สองจะต้องหาทางทำให้งานง่ายขึ้นและเสร็จเร็วขึ้น
ความจริงแล้วความว่าพอเพียงที่ผมใช้นั้น มีแนวทางมาจากหลักเศรษฐกิจพอเพียง โดยมีลักษณะ คือ
1. ความพอประมาณ หมายถึง ความพอดีที่ไม่น้อยเกินไปและไม่มากเกินไป โดยไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น
2. ความมีเหตุผล หมายถึง การตัดสินใจเกี่ยวกับระดับของความพอเพียงนั้นจะต้องเป็นไปอย่างมีเหตุผล โดยพิจารณาจากเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้องตลอดจนคำนึงถึงผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการกระทำนั้น ๆ อย่างรอบคอบ
3. การมีภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว หมายถึง การเตรียมตัวให้พร้อมรับผลกระทบ และการเปลี่ยนแปลงด้านต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นโดยคำนึงถึงความเป็นไปได้ของสถานการณ์ต่าง ๆ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตทั้งใกล้และไกล
และประกอบด้วย 2 เงื่อนไข ได้แก่
1. เงื่อนไขความรู้ ประกอบด้วย ความรอบรู้เกี่ยวกับวิชาการต่าง ที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน ความรอบคอบที่จะนำความรู้เหล่านั้นมาพิจารณาให้เชื่อมโยงกัน เพื่อประกอบการวางแผนและความระมัดระวังในขั้นปฏิบัติ
2. เงื่อนไขคุณธรรม ที่จะต้องเสริมสร้างประกอบด้วย มีความตระหนักในคุณธรรม มีความชื่อสัตย์สุจริต และมีความอดทน มีความพากเพียร ใช้สติปัญญาในการดำเนินชีวิต
คนที่ขยัน จะทำงานหามรุ่งหามค่ำ มาเช้ากลับดึก เบียดเบียนตนเองและคนในครอบครัว บางครั้งเบียดเบียนเพื่อร่วมทีมด้วยเพราะ ทำให้คนอื่นเกรงใจไม่กล้ากลับเร็ว การที่ไม่ควรขยันนั้นไม่ใช่ว่าถ้ามีงานด่วนก็ต้องกลับเร็ว กลับช้าได้บ้าง แต่ไม่ควรกลับดึกเป็นประจำ และต้องรู้ตัวเองว่า ขีดจำกัดอยู่ที่ใด บางคนทำงาน จนเบลอ แทนที่จะได้ทำงาน กลายเป็นทำข้อผิดพลาดไว้ แล้วก็ต้องมานั่งแก้ไขในตอนเช้า แทนที่จะได้งานเพิ่มกลับเสียงานไปอีก อย่างนี้เรียกว่า ขาดภูมิคุ้มกันที่ดี
ไม่แน่ใจว่าพอจะเห็นภาพขึ้นบ้างหรือไม่ว่า ความขยันมากเกินไปนั้นความจริงเป็นผลเสียมากกว่าผลดี ความขี้เกียจต่างหาก ที่คอยผลักดันให้เรามีความจำเป็นที่ต้องหาวิธีการทำงานที่มีประสิทธิภาพ หรือ หาเครื่องไม้เครื่องมือมาใช้เพื่อลดงาน ส่ิงที่ได้ตามมาคือผลลัพธ์ที่ดีขึ้น และต้นทุนที่ถูกลง
ถ้าเห็นด้วยกับผม มาเริ่มทำงาน อย่างพอเพียงกันเถอะนะ
ตั้งแต่อ่านมา ผมชอบที่สุดในปีนี้เลยครับ