ตอนเด็ก ๆ ได้เรียนพุทธศาสนา แต่ไม่ค่อยเข้าใจนัก จนเมื่อมาเรียนคอมพิวเตอร์ แล้วกลับไปอ่านหนังสือธรรมะอีกครั้งก็พบว่า มันคือตำรา AI (Artificial Intelligence) ที่ยอดเยี่ยมมาก อธิบายไว้หมดแล้วว่า จะสร้าง หุ่นยนต์ที่มีความรู้สึกนึกคิดแบบมนุษย์ได้นั้น ต้องประกอบด้วยอะไรบ้าง
เบญจขันธ์ หรือ ขันธ์ 5 นั้นคือ สรรพสิ่งจะเรียกว่ามีชีวิตได้ต้องประกอบด้วยสิ่งต่าง ๆ 5 สิ่ง หรือพูดง่าย ๆ ว่า ถ้าไม่มี 5 อย่างนี้ครบไม่เรียกว่า มีชีวิต
1. รูป – ตัวร่างกาย ซึ่งก็คือ body ซึ่งได้แก่ sensors และ actuator ของ robot ซึ่งทำให้ robot นั้นสามารถรับรู้และตอบสนองต่อสิ่งเร้าได้
2. วิญญาณ – เมื่อมีการกระทบกัน ของ object (อารมณ์) และ sensor (อายตนะ) จะเกิดเป็น event (วิญญาณ) ขึ้นในระบบ ตัวอย่างเช่น มีแสงสะท้อนวัตถุมากระทบ image sensor เกิด เป็น event เรียกว่า จักขุวิญญาณ เป็นต้น
3. เวทนา – ภายในระบบ จะต้องมีระบบย่อย (subsystem) หนึ่ง ทำหน้าที่บอกว่า ชอบ เกลียด หรือ เฉย ๆ กับตัว วิญญาณ ที่เกิดขึ้นจากการกระทบกันของ object และ sensor นั้น เหตุผลที่ต้องมี subsystem นี้เพื่อให้การตอบสนองรวดเร็ว ตัวอย่างเช่น ถ้าถูกไฟลวกเราต้องหดมือกลับ ในการนี้เราเพียงรู้ว่า เจ็บ เราไม่ชอบ ก็เพียงพอแล้ว ไม่จำเป็นต้องรู้มากกว่านั้น ระบบจึงตอบสนองได้รวดเร็ว เพื่อความปลอดภัยของตัวระบบเอง
4. สัญญา – ระบบจะต้องมี knowledge database เพื่อสืบค้น และเรียนรู้ว่าสิ่งที่มากระทบนี้เรียกว่า อะไร เคยกระทบหรือยัง มีผลอย่างไรบ้าง
5. สังขาร – คือการตอบสนองต่อ object ที่มากระทบ โดยประมวลผลจาก สัญญา ที่มีเก็บไว้ ประกอบกับ เวทนา ที่เกิดขึ้น โดย สังขาร (reaction) = เจตนา (system call) -> ทวาร (actuator) -> กรรม (action)
คงจะพอเห็นภาพคร่าว ๆ ของระบบ AI และ ขันธ์ 5 แล้ว สังเกตอย่างหนึ่งว่า ขันธ์ 5 ไม่ได้บอกว่า sense หรือการรับรู้ จะประกอบด้วยอะไรบ้าง สำหรับ มนุษย์แล้วจะประกอบด้วย หู ตา จมูก ลิ้น กาย ใจ แต่ไม่ได้จำกัดว่า AI ของเรานั้นจะต้องมีเหมือน หรือแตกต่างอย่างไร ตรงนี้ ทำให้โอกาสในการออกแบบ เปิดกว้างมาก เช่น AI ของเรา อาจจะรับรู้ ในช่วงคลื่น infrared แทนที่จะเป็นคลื่นแสงอย่างมนุษย์ก็ได้