ลูกน้องขาดความเป็นผู้มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ หรือ creative เป็นปัญหาที่หัวหน้างานส่วนใหญ่ต้องเผชิญ ปัญหานี้อาจจะฟังดูไม่ใหญ่โต แต่เป็นเรื่องที่แก้ไขได้ยากพอสมควร โดยเฉพาะถ้าหากหัวหน้างานทำไม่ถูกวิธี
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หัวหน้างานส่วนใหญ่มักจะไม่ค่อยเข้าใจปัญหานี้สักเท่าไหร่ พวกเขามักจะคิดว่า การที่ลูกน้องขาดความคิดริเริ่มสร้างสรรค์เป็นเพราะ ลูกน้องคิดไม่เป็น จึงมักเริ่มต้นโดยพยายามที่จะสอนให้คิด ด้วยความเคยชินกับการมอบหมายงานหรือสั่งงาน และหัวหน้างานส่วนใหญ่ก็มักจะต้องการเห็นผลเร็ว จึงมักจะจบลงด้วยการคว้าน้ำเหลว เพราะความจริงแล้ว แก้ปัญหาไม่ถูกจุด
มนุษย์เราส่วนใหญ่นั้นมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์อยู่กับตัวอยู่แล้ว หากแต่เลือกที่จะแสดง หรือไม่แสดงออกต่างหาก โดยสิ่งสำคัญที่เป็นตัวแปรทำให้พวกเขาเลือกที่จะแสดงออกซึ่งความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ของตัวเองหรือไม่ เกิดจากสภาวการณ์ว่ามีความปลอดภัยเพียงพอหรือไม่ (Safety) ซึ่งความปลอดภัยที่ว่านี้จะเกิดขึ้นจาก ปัจจับหลักคือ “ความมั่นใจว่าความคิดริ่เริ่มนั้นจะได้รับการยอมรับจากอีกฝ่ายหรือคนรอบข้าง” หรือกล่าวในอีกนัยคือ สิ่งที่ขัดขวางมิให้ลูกน้องแสดงออกซึ่งความคิดริเริ่มของตัวเอง ก็คือ “ความกลัวว่าจะไม่ได้รับการยอมรับจากผู้ฟัง” นั้นเอง และเมื่อรวมกับ ความสามารถในการให้คุณให้โทษหรืออำนาจของผู้ฟังแล้ว ก็หมายความว่า ความกลัวนั้นจะยิ่งเพิ่มขึ้นเป็นหลายเท่าอย่างแน่นอน
นี่เองคือเหตุผลว่าทำไมยิ่งหัวหน้างานพยายามกดดันให้ลูกน้องแสดงออกซึ่งความคิดสร้างสรรค์ กลับเป็นการยิ่งทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ยากยิ่งขึ้นไปอีก
อีกกรณีหนึ่งคือ แนวคิดเรื่องการจัดรายการแข่งขัน เพื่อกระตุ้นให้เกิดการแสดงออกซึ่งความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ กรณ๊อย่างนี้มักเกิดขึ้นในบริบทที่หัวหน้างานมีความเชื่อว่า ลูกน้องขาดโอกาสในการแสดงออกซึ่งความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ จึงพยายามสร้างโอกาสด้วยการจัดรายการแข่งขันดังกล่าว ตัวอย่างเช่น บริษัทแห่งหนึ่งกำลังจะมีการย้ายอาคาร จึงออกรายการแข่งขันให้พนักงานรวมกลุ่มกันออกแบบ นำเสนอความคิดว่า จะตกแต่งสถานที่ทำงานใหม่อย่างไร โดยผู้ชนะจะได้รางวัลเป็นเงินจำนวนหนึ่ง
การจัดรายการแข่งขันเช่นนี้ กลับจะเป็นการพลังความคิดสร้างสรรค์โดยรวม รับประกันได้ว่าจะมีพนักงานจำนวนหนึ่งส่งผลงานเข้าแข่งขันอย่างแน่นอน ซึ่งคนเหล่านี้มักเป็นกลุ่มคนเดิม ๆ ที่มีความกล้าแสดงออกอยู่แล้ว แต่ก็จะมีคนอีกพวกหนึ่งที่เมื่อเป็นการแสดงออกในที่สาธารณะเช่นนี้ จะไม่ยอมส่งผลงานอย่างแน่นอน ซึ่งปกติแล้ว จะเป็นคนประมาณ 50-70% ของคนทั้งหมด ที่เหลืออาจจะทดลองดูบ้าง แต่เพราะ ขาดประสบการณ์ย่อมแพ้ให้กับเหล่าขาประจำเหล่านั้น ซึ่ง พอจะสรุปได้ ผลของรายการนี้ รางวัลน่าจะตกเป็นของคนกลุ่มขาประจำ และ คนที่พยายามลองเป็นครั้งแรกก็คงจะรู้สึกเข็ดแล้ว ไม่ส่งลงประกวดในครั้งถัดไป เพราะไม่มีใครที่ชอบความรู้สึกพ่ายแพ้และอยากจะพบเจอมันบ่อย ๆ หรอก
ผลจากรายการประกวดนี้คงจะทำให้เหล่าผู้บริหาร มั่นใจเข้าไปอีกว่า บริษัทมีคนที่มีความคิดสร้างสรรค์เพียงหยิบมือ และคนที่เหลือนั้นไร้ซึ่งความคิดสร้างสรรค์โดยสิ้นเชิง และที่สำคัญ คนเหล่านั้นคงจะเชื่อว่า ตนเองไร้ซึ่งความคิดสร้างสรรค์ด้วยเหมือนกัน
อนิจจา น่าสงสารบริษัทเหล่านี้จริง ๆ
แล้วข้อเสนอแนะคืออย่างไรดีครับ
ขาประจำนี่ น่ากลัวจริงครับๆ
เป็นการ “บล๊อกแบบไม่ได้ตั้งใจ(หรือตั้งใจเอาหน้าเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว)” ดับฝันคนกำลังเริ่มได้ดีทีเดียว
(และก็มาเข้าอีหรอบเดิม “เอ็งเก่งนัก ก็ทำไปสิ”)
ที่ผมเคยลองคือ คุยก่อน แบบไม่ต้องทางการนัก ตะล่อมๆ ดูว่าเขามีอะไรในใจอยากจะลองทำไหม ถ้ามี เปิด safe zone แบบจำกัดวงฉิบหายไว้ แล้วก็ให้ลองทำดู
ครูผมเคยบอกว่า การยั่วคนให้ทำโน่นนี่นั่นโดยเอารางวัลมาล่อ ให้ผลร้ายมากกว่าดี
ชมแบบจริงใจ OK กว่า