Seiso หรือ สะอาด ในภาษาไทย และ Shine/Sweeping ในภาษาอังกฤษ น่าจะเป็น ส หรือ S ใน 5ส หรือ 5S ที่มีคนเข้าใจผิดมากที่สุดกระมัง
เหตุเพราะไม่ว่าจะตัวคำเองในภาษาใดก็แปลว่า สะอาดเรียบร้อยด้วยกันทั้งนั้น ประเด็นคือคนส่วนใหญ่พอได้ยินว่าสะอาด ก็จะนึกถึงการทำความสะอาด อย่างการทำความสะอาดบ้าน การทำความสะอาดโรงงานไป ซึ่งก็ไม่ผิด แต่ไม่ถูกเสียทีเดียว
ความจริงคำว่า สะอาดในที่นี้มิได้แปลว่า ทำสกปรก แล้วมาทำความสะอาดทีหลัง แต่เป็นการทำอย่างไรไม่ให้สกปรก
กล่าวคือ Seiso นั้นแปลว่า ใช้งานแล้วทำให้สภาพของอุปกรณ์และสิ่งแวดล้อมในสถานีงานนั้นกลับสู่สภาพเดิมก่อนที่จะทำงาน
จะขอยกตัวอย่างการใช้งาน Seiso เพื่อให้เห็นภาพนะครับ มีบริษัทแห่งหนึ่งนำหลักปฏิบัติตามแนวทางลีนไปใช้ ห้องน้ำของเขานั้นจะมีรูปภาพของห้องน้ำในแต่ละจุดไม่ว่าจะเป็นโถสุขภัณฑ์ อ่างล้างหน้า ตู้ยา ฯลฯ เป็นสี่สีโดยละเอียด หลักการคือทุกคนที่มาใช้ห้องน้ำจะต้องทำให้ห้องน้ำอยู่ในสภาพตามรูปก่อนออกจากห้อง ตัวอย่างเช่น ในรูปมีกระดาษทิสชู่ ถ้าเราใช้หมดก็จะทำให้ไม่เหมือนในรูป เราต้องเอาของใหม่ซึ่งจะเตรียมไว้ในตู้เก็บของภายในห้องน้ำนั่นแหละมาเติมให้เหมือนเดิม หรือ อ่างล้างหน้าในรูปแห้งไม่มีน้ำ ถ้าเราใช้แล้วมีน้ำหกเลอะเราก็ต้องเอาผ้ามาเช็ดให้แห้งเหมือนเดิม บริษัทแห่งนี้มีแม่บ้านเพียงแค่ 4 คนเท่านั้น ดูและห้องน้ำถึง 16 ห้องสำหรับพนักงานเกือบ 100 คน นี่คือพลังของ Seiso
การนำหลักการ Seiso มาปรับใช้กับการพัฒนา ซอฟแวร์นั้นสามารถทำได้หลายระดับ ลองดูระดับง่ายๆ ก่อน เช่น ตอนเช้าก่อนเริ่มทำงาน sourcecode ของเราสามารถ compile ผ่านได้ไม่มีปัญหา ตอนเย็นสิ่งที่เราต้องทำคือ จะกลับบ้านได้ ก็ต้องทำให้ sourcecode compile ผ่านได้เหมือนเดิม หรือ ถ้า advance ขึ้นมาหน่อย ก็ ตอนเช้า run xUnit test ผ่านหมด ตอนเย็นก่อนหลับก็ต้อง ผ่านทุก case เหมือนเดิม เป็นต้น
อยากให้ทุกคนเข้าใจว่า หลักการ 5ส นั้นเป็นหัวใจของ Kaizen ซึ่งมีอะไรมากกว่าการจัดโต๊ะทำงานมากมายนัก แต่พอเราถูกสอนผิดๆ ก็เลยเกิดอคติกันไปเท่านั้นเอง ถ้าได้ลองศึกษาให้ดีและถูกต้องจะมองเห็นวิธีการพัฒนาการทำงานได้มากมายแบบไร้ขีดจำกัดเลยทีเดียว
Pingback: ล้างจานชามกองใหญ่ด้วย 5ส | Korn4D Agile Blog