เรื่องมีอยู่ว่า ในการประชุมหนึ่ง มีผู้อาวุโสเช้าร่วมหลายคน ความจริงแล้วพวกเขาได้รับเชิญ เพราะน้องๆ ที่ทำงานในทีมรู้สึกไม่ค่อยมั่นใจ ด้วยว่าประวัติศาสตร์มีเรื่องที่ต้องใช้วัยวุฒิจัดการด้วย เลยรู้สึกอุ่นใจถ้าจะมีผู้ใหญ่เข้าด้วย เผื่อจะได้ปกป้องผองภัยได้บ้าง
ผู้อาวุโสพอเข้ามา ก็รู้สึกอินกับงาน จนลืมไปบ้างเหมือนกันว่า เราไม่ได้เป็นคนทำงานนี้นะ เข้ามาแค่ให้คำปรึกษาเป็นที่อุ่นใจแค่นั้น เลยลงรายละเอียดราวกับว่า จะเป็นคนทำเอง ทีนี้ก็เกิดปํญหาเพราะเราไม่มีทางรู้เลยว่า คนทำงานจริงๆ เขาเข้าใจระดับไหน และจริงๆ แล้วจะทำอย่างไร เพราะเขาไม่ได้พูดเลย
ผมเผชิญอาการนี้เลยนึกถึงนิทานเรื่องหนึ่งขึ้นมา (เข้าใจว่าหลายคนคงเคยฟังมาแล้ว)
เรื่องมีอยู่ว่า หมูกับไก่เป็นเพื่อนรักกัน อยู่มาวันหนึ่งเกิดเบื่องานประจำอยากจะลาออกมาเป็นเจ้าของกิจการกันดีกว่า เลยมานั่งคิดว่า จะทำธุรกิจอะไรกันดี หมูมีไอเดียว่า เราน่าจะทำอะไรที่เรามีต้นทุนอยู่แล้ว เลยเสนอว่า มาทำร้านอาหารกันดีกว่า ไก่ก็เห็นดีด้วยเลยเสนอว่า เอาร้านชื่อ “Ham & Egg” เป็นไง นายมีแฮม เรามีไข่ ไม่ต้องลงทุนมาก หมูคิดหนักสักพักก็เอ่ยปากว่า “ไม่เอาดีกว่า นายน่ะ แค่ involved ส่วนเราน่ะต้อง committed” ซึ่งแปลง่ายๆ ว่า หมูน่ะต้องแล่เนื้อถึงจะมาเป็นแฮม ส่วนไก่น่ะ แค่เบ่งก็ได้ไข่แล้ว เพราะฉะนั้น ระดับของการมีส่วนรับผิดชอบมันไม่เท่ากัน แล้วจะให้มีหุ้นเท่ากันได้อย่างไร
ก็เหมือนกับน้องคนทำงาน กับผู้อาวุโสที่มาเป็นที่ปรึกษานั่นแหละ น้องๆ ควรจะเป็นคนที่มีโอกาสพูดมากกว่า เพราะเป็นคนที่จะทำงานนั้นๆ จริงๆ ส่วนคนเชียร์ต่างๆ คอยเมื่อเขามีคำถามหรือปัญหาค่อยเสนอความคิดเห็นไม่อย่างนั้น ควรเงียบเพื่อเปิดโอกาสให้เขาพูด จะได้ทำงานกันได้สะดวกรวดเร็ว และเข้าใจตรงกัน
Pingback: ทำยังไงให้รุ่นน้องมีส่วนร่วมมากขึ้น | Korn4D Agile Blog