สิ่งสำคัญที่อาจเรียกได้ว่า เป็นหัวใจของอไจล์ คือ การร่วมไม้ร่วมมือกันทำงาน หรือที่เรียกว่า collaboration ในวงการอไจล์นั้นมีคำติดตลกที่เรามักใช้เรียกกลุ่มคนที่มีแนวคิดหรือปฏิบัติที่ตรงข้ามกับแนวคิดอไจล์ว่าพวกเขาเป็น Manager ลักษณะที่เรามักเห็นในคนกลุ่มนี้คือ พวกเขามักจะ ยึดตนเองเป็นศูนย์กลาง คอยกำกับควบคุมคนอื่น ตัดสินใจเรื่องต่างๆ เองคนเดียวโดยไม่สนใจรับฟังความคิดเห็น หรือเรียกได้ว่า มีลักษณะ dictatorship สูงกว่า leadership จึงไม่น่าแปลกใจว่าในกลุ่มคนที่เชื่อในแนวทางอไจล์น่าจะพบเห็นลักษณะแบบนี้น้อยกว่าคนกลุ่มอื่น
นั่นเป็นสิ่งที่ไม่จริง!!!
จากประสบการณ์ส่วนตัว ผมมักเห็นอาการแบบ Manager เหล่านี้จากเหล่า Agilist อยู่เนืองๆ ฉันถูกเธอผิด พวกเธอต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้ ฉันเลือกอันนี้ พวกเธอทำงานกันถึงไหนแล้ว ทำไมทำอย่างนั้นไม่ทำอย่างนี้
ความจริงผมไม่ใคร่สนใจในเรื่องนี้สักเท่าใดนัก จนกระทั่งมีเสียงทักจากน้องท่านหนึ่งว่า พวกพี่บอกอไจล์ดี แต่ไม่เห็นทำงานกันแบบอไจล์เลย ผมสะดุ้งเล็กน้อย แต่ก็เก็บมาคิดอยู่นาน จนกระทั่งได้ฟัง VDO TEDx หนึ่งชื่อว่า Cultivating Collaboration: Don’t Be So Defensive! โดย Jim Tamm
ใน VDO Jim ได้อธิบายให้เราฟังถึง การทดลองหนึ่งในไก่ ที่สามารถอธิบายอาการ “ปกป้องตนเอง” (defensive) ของคนเราว่า เกิดจาก “ความกลัว” (fear) ต่อความรู้สึก 3 ประการ คือ
- Significance – กลัวว่าจะหมดความสำคัญ
- Competence – กลัวว่าจะไร้ความสามารถ
- Likability – กลัวว่าจะไม่เป็นที่ชื่นชอบของคนอื่น
Jim อธิบายว่า ความจริงแล้วเราไม่ได้ปกป้องตนเองจากคนรอบข้าง แต่เราปกป้องตนเองจากความรู้สึกทั้งสามนี้ต่างหาก ซึ่งไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้นเลย มีแต่ทำให้แย่ยิ่งขึ้นเสียมากกว่า คงไม่มีใครอยากให้ความสำคัญกับคนที่เอาแต่เรียกร้องให้คนอื่นเห็นความสำคัญหรอก จริงมั้ย?
สิ่งที่น่าใจคือ เมื่อคนเราเริ่มปกป้องตนเอง ระบบความคิดและการกระทำของเราจะไม่ปกติ เราจะเริ่มโจมตีคนอื่น และความร่วมไม้ร่วมมือก็จะหมดสิ้นไป เหลือแต่คนที่อยู่ในโหมดปกป้องตนเองแทน
นี่เป็นคำอธิบายที่ดีว่าทำไม Agilist ที่ดีจึงกลายเป็น Manager ที่ตนเองไม่ชอบได้ “ความกลัว” นั่นเอง กลัวว่างานจะเสร็จไม่ทัน แล้วพวกเขาจะดูไร้ความสามารถ หรือกลัวว่าจะหมดความสำคัญ พวกเขาจึงเริ่มควบคุมและติดตามงานคนอื่น
ความเป็น Manager จึงมีอยู่ในตัวเราทุกคน ไม่เว้นแม้แต่เหล่า Agilist
อ่านต่อ
“ผมสะดุ้งเล็กน้อย แต่ก็เก็บมาคิดอยู่นาน จนกระทั่งได้ฟัง VDO TEDx หนึ่งชื่อว่า Cultivating Collaboration: Don’t Be So Defensive”
ชอบจังเลย
บางคน ยังปกป้องตัวเองต่อ
ไม่อยากแม้นแต่จะนำมาคิดทบทวน
ขอบคุณ คุณกร ที่ช่วยอธิบาย อไจล์
ฉบับ อบต.ก็พอจะเข้าใจบ้าง
แต่อยู่ในองค์กรลำบาก นิดนึง
ขอบคุณครับ “อไจล์ ฉบับ อบต.” ชื่อน่าสนใจมากครับ